คู่มือสถานประกอบการ
บทบาทของสถานประกอบการ
- การแจ้งความประสงค์การรับนักศึกษา โดยการระบุตำแหน่งงานพร้อมกับลักษณะงานที่จะมอบหมายให้ปฏิบัติงานและจำนวนนักศึกษาที่ต้องการในเอกสารการตอบรับนักศึกษามายังศูนย์สหกิจศึกษาและจัดหางานของสถาบันเทคโนโลยีไทย – ญี่ปุ่น
- การคัดเลือกนักศึกษาและทำการสัมภาษณ์ เพื่อชี้แจงลักษณะงานและเพื่อคัดเลือกนักศึกษา
โดยสถานประกอบการ สามารถคัดเลือกจาก Resume นักศึกษา การสัมภาษณ์ หรือแจ้งความจำนงค์ต่อสถาบัน เพื่อให้คัดเลือกนักศึกษาให้กับสถานประกอบการ - การกำหนดพนักงานที่ปรึกษาเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้มอบหมายงานและเป็นพี่เลี้ยงดูแลให้คำแนะนำรวมทั้งให้ความช่วยเหลือแก่นักศึกษาตลอดระยะเวลาของการปฏิบัติงาน
- ปฐมนิเทศนักศึกษาสหกิจศึกษา เพื่อแนะนำให้รู้จักสถานประกอบการ เช่น โครงสร้างองค์กรหน่วยงานต่างๆ กำหนดการ ตารางเวลาปฏิบัติงาน ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ความคาดหวังหลังจบการปฏิบัติงานสหกิจศึกษารวมถึงกฏ ระเบียบและข้อปฏิบัติต่างๆ ของสถานประกอบการ
- การมอบหมายภาระงานที่ชัดเจน เพื่อให้นักศึกษาปฏิบัติงานตรงกับสาขาวิชาที่ได้เรียนมา
- กำหนดหัวข้อ/โครงงานสหกิจศึกษาให้กับนักศึกษา เพื่อทำให้สำเร็จในระยะเวลาสหกิจศึกษา
- ให้ความร่วมมือในการนิเทศงานสหกิจศึกษาของอาจารย์ที่ปรึกษา
- จัดให้มีการนำเสนอรายงานของนักศึกษาเพื่อทำให้สำเร็จในระยะเวลาการปฏิบัติงานสหกิจศึกษาในสถานประกอบการตลอดจนทำการประเมินผลการปฏิบัติงานและรายงานสหกิจศึกษา
ลักษณะงานที่สถานประกอบการมอบหมายให้นักศึกษาปฏิบัติ
- การรับนักศึกษาสหกิจศึกษาเข้าทำงาน ทางสถานประกอบการจะต้องมีการกำหนดภาระงานโดยมีรายละเอียดหน้าที่ที่นักศึกษาจะต้องรับผิดชอบอย่างชัดเจน และตรงกับสาขาวิชาชีพนักศึกษา ทั้งนี้การกำหนด ภาระงานจะช่วยลดปัญหาการใช้งานนักศึกษาผิดประเภท ซึ่งจะไม่ส่งผลดีทั้งสถานประกอบการและนักศึกษา ตลอดจนจะทำให้ผิดวัตถุประสงค์หลักของการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบสหกิจศึกษาด้วย
การจัดพนักงานที่ปรึกษาเพื่อดูแลนักศึกษาสหกิจศึกษา
สถานประกอบการจะต้องมีการแต่งตั้งหรือมอบหมายให้เจ้าหน้าที่อย่างน้อย 1 คน เป็นพนักงานที่ปรึกษา
(พี่เลี้ยง) ทำหน้าที่ดูแลและแนะนำในการปฏิบัติงานตลอดระยะเวลาที่นักศึกษาปฏิบัติงาน
- การให้คำแนะนำในระเบียบลักษณะงาน และความรับผิดชอบของนักศึกษาในหน่วยงาน
- การมอบหมายงาน และการถ่ายทอดวิธีการปฏิบัติงานให้กับนักศึกษา
- การแนะนำและกำหนดหัวข้อโครงงานของนักศึกษา การตรวจเอกสาร และแบบฟอร์มรายงานต่าง ๆ
ของนักศึกษาสหกิจศึกษา - ดูแลความประพฤติของนักศึกษาให้เป็นไปตามกฎระเบียบตลอดจนกรณี เกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น นักศึกษาได้รับอุบัติเหตุในสถานที่ทำงาน
- การมีส่วนร่วมในการนิเทศงานกับอาจารย์ ที่ปรึกษาสหกิจศึกษารวมทั้งประเมินผลการปฏิบัติงานของนักศึกษาสหกิจศึกษา
การนิเทศงาน
ระหว่างการปฏิบัติงานของนักศึกษาจะมีการนัดหมายเวลาเพื่อให้อาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษา
เข้านิเทศงาน ณ สถานประกอบการ โดยจะมีการจัดส่งเอกสารขอเข้านิเทศให้กับสถานประกอบการล่วงหน้าก่อนนิเทศงาน ซึ่งจะต้องมีหัวข้อการสอบถามกับฝ่ายทรัพยากรบุคคลและพนักงานที่ปรึกษาในระหว่างการนิเทศงาน ในรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับ
- รูปแบบการดำเนินงานของศูนย์สหกิจศึกษาและรายละเอียดหลักสูตรสหกิจศึกษา
- ลักษณะงานที่มอบหมายให้นักศึกษาปฏิบัติ
- แผนการปฏิบัติงานตลอดระยะเวลาการปฏิบัติงาน
- หัวข้อโครงงานสหกิจศึกษา
- การพัฒนาตนเองของนักศึกษา
- ผลการปฏิบัติงานและความประพฤติของนักศึกษา
- ปัญหาต่าง ๆที่สถานประกอบการพบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของนักศึกษา
การประเมินผลการปฏิบัติงานนักศึกษาสหกิจศึกษา
- ผู้ที่จะทำการประเมินผลการปฏิบัติงานของนักศึกษาสหกิจศึกษา คือ พนักงานที่ปรึกษา (พี่เลี้ยง)
ที่ทางสถานประกอบการแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลนักศึกษาโดยตรง ซึ่งทางศูนย์สหกิจศึกษาและจัดหางาน
จะมอบเอกสารการประเมินผลปฏิบัติงานของสถานประกอบการให้กับนักศึกษาสหกิจศึกษานำไปมอบให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลพร้อมกับหนังสือส่งตัวนักศึกษาสหกิจศึกษาในวันที่ไปปฏิบัติงานวันแรก - การประเมินนั้นจะมีทั้งแบบฟอร์มการประเมินผลการปฏิบัติงานซึ่งจะเป็นการประเมินความประพฤติ การเข้ากับผู้ร่วมงานคนอื่น การเคารพต่อระเบียบวินัยขององค์กร ความรู้ความสามารถและทักษะในการทำงานและแบบประเมินผลรายงานของนักศึกษาสหกิจศึกษา หลังจากที่กรอกผลการประเมินในแบบฟอร์มที่ได้รับเสร็จแล้ว สถานประกอบการต้องจัดส่งคืนมายังสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น เสร็จสิ้นการปฏิบัติงานเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาให้คะแนนนักศึกษาในลำดับต่อไป
เกณฑ์การประเมินผลนักศึกษา
การให้ค่าน้ำหนักการประเมินผลนักศึกษาสหกิจศึกษา มีหลักการให้คะแนน มีดังนี้
สถานประกอบการเป็นผู้ประเมิน (50%)
- ประเมินจากรายงานของนักศึกษาสหกิจศึกษา 15%
- ประเมินจากการปฏิบัติงานของนักศึกษาสหกิจศึกษา 35%
อาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษาเป็นผู้ประเมิน (50%)
- ประเมินจากรายงานฉบับสมบูรณ์ของนักศึกษาสหกิจศึกษา 15%
- ประเมินจากการนิเทศงาน / การปฏิบัติงานของนักศึกษา 25%
- ประเมินจากการนำเสนอรายงานสหกิจศึกษา 10%
ประโยชน์ที่สถานประกอบการได้รับ
- เป็นการสร้างภาพพจน์ที่ดีให้กับองค์กรในด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาของชาติ
- เกิดความร่วมมือทางวิชาการและความสัมพันธ์ที่ดีกับสถาบันซึ่งสามารถพัฒนาไปสู่ความร่วมมือด้านอื่น ๆ เช่นด้านการวิจัยพื้นฐาน เพื่อหาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องและมีประโยชน์ต่อสถานประกอบการ
- สถานประกอบการได้นักศึกษาที่มีความกระตือรือร้นและมีความพร้อมทางวิชาการระดับหนึ่ง
มาช่วยปฏิบัติงาน โดยให้นักศึกษาได้นำความรู้และทฤษฎีที่ได้จากสถาบันการศึกษามาประยุกต์ปรับใช้
ในการปฏิบัติงาน โดยการจัดทำโครงงานให้กับสถานประกอบการ - เป็นวิธีการคัดเลือกพนักงานประจำของสถานประกอบการวิธีหนึ่งที่สถานประกอบการจะได้พนักงานที่รู้จักมาก่อนทั้งด้านความรู้ความสามารถ บุคลิกภาพและอุปนิสัยตลอดจนได้พนักงานที่ไม่จำเป็นต้องทดลองงานก่อนเนื่องจากเคยปฏิบัติงานมาแล้วในช่วงปฏิบัติงานสหกิจศึกษา
- เสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของสถานประกอบการให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นเช่นการให้ความร่วมมือ
การส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาอันจะนำไปสู่การปรับปรุงหลักสูตร เพื่อการพัฒนาบัณฑิตของชาติซึ่งส่งผลดี
ต่อทั้งสถานประกอบการและระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ - เจ้าหน้าที่หรือพนักงานประจำในสถานประกอบการมีเวลามากขึ้นที่จะปฏิบัติงานหน้าที่อื่น ๆ
ที่มีความซับซ้อนและมีความสำคัญมากกว่าซึ่งถือเป็นการช่วยลดภาระภายในสถานประกอบการและสามารถถ่ายทอดทักษะประสบการณ์ให้แก่นักศึกษาด้วย - ลดการจ้างงานและค่าตอบแทนลงโดยนักศึกษาสหกิจศึกษาจะมีความรู้ทางวิชาการเพียงพอระดับหนึ่งเพื่อเข้าปฏิบัติงานทดแทนพนักงานของสถานประกอบการที่ขาดไปหรือสามารถเป็นผู้ช่วยพนักงานและค่าตอบแทนนี้ไม่ได้กำหนดรูปแบบหรือกำหนดตามค่าจ้างขั้นต่ำ จึงส่งผลให้สถานประกอบการมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าการจัดหาบุคคลด้วยตนเองเพราะว่าต้องรับภาระค่าจ้างแรงงานตามกฎหมายกำหนด
- ลดอัตราการลาออกของบุคลากรและสร้างประสิทธิภาพการดำเนินงานของพนักงานในอนาคตเนื่องจากสถานประกอบการสามารถคัดเลือกนักศึกษาได้อย่างเต็มที่และนักศึกษาที่มีโอกาสศึกษาซึ่งกันและกัน ในระหว่างการปฏิบัติงานทำให้โอกาสที่จะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างมีเพิ่มมากขึ้น
- สามารถขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับสถานประกอบการจากการดำเนินงานสหกิจศึกษาได้(โปรดดูในคู่มือการขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับสถานประกอบการจากการดำเนินงานสหกิจศึกษา จัดทำโดย
สำนักประสานและส่งเสริมกิจการอุดมศึกษาสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา: พ.ศ.2552)
การรักษาความลับ
- สถาบันเทคโนโลยีไทย – ญี่ปุ่นตระหนักดีว่า ลักษณะงานของสถานประกอบการแต่ละแห่งย่อมมีข้อมูลความลับที่ไม่ต้องการเปิดเผย ดังนั้นทางสถาบันฯจึงกำชับให้นักศึกษาทุกคนต้องรักษาข้อมูลที่เป็นความลับของสถานประกอบการโดยการไม่นำมาเผยแพร่ หากไม่ได้รับอนุญาตจากสถานประกอบการ ทั้งนี้รวมถึงการจัดทำรายงานโครงงานของสถานประกอบการ ก็ต้องได้รับอนุญาตจากทางสถานประกอบการก่อน ที่จะดำเนินงาน การจัดทำซึ่งเอกสารของทางสถานประกอบการแต่ละแห่งจะเก็บไว้ที่สถาบันฯ เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าของนักศึกษารุ่นถัดไป