Call : 02 763 2600 Ext. 2750 coop@tni.ac.th
Week days: 08:00 - 17:00 | Saturday - Sunday: Closed

กระบวนการและขั้นตอนสหกิจศึกษา

  1. จัดหาสถานประกอบการสำหรับนักศึกษาสหกิจศึกษาไปปฏิบัติงาน

สถาบันเทคโนโลยีไทย – ญี่ปุ่น  ดำเนินการจัดหาสถานประกอบการให้กับนักศึกษาสำหรับนักศึกษาที่ไปปฏิบัติสหกิจศึกษา โดยประสานกับบริษัทในภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งบริษัทที่เป็นสมาชิกเครือข่ายหอการค้าญี่ปุ่น บริษัทญี่ปุ่นและบริษัทร่วมชาติที่ให้การสนับสนุนสถาบันฯ เรื่องทุนการศึกษาและอุปกรณ์การเรียนการสอน  เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันฯ กับสถานประกอบการอย่างต่อเนื่อง โดยทางสถาบันฯได้ดำเนินการจัดส่งแบบเสนองานสหกิจศึกษาให้กับสถานประกอบการล่วงหน้า 1 ภาคการศึกษา เพื่อให้ทางสถานประกอบการพิจารณาอัตราตำแหน่งงานของนักศึกษารวมทั้งแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับงานและคุณสมบัติของนักศึกษาที่ต้องการรับเข้าสหกิจศึกษากลับมายังสถาบันฯ จากนั้นทางสถาบันฯจะดำเนินการคัดเลือกนักศึกษา ตลอดจนจำแนกงานที่ตรงกับความต้องการของนักศึกษาและสถานประกอบการ

  1. การคัดเลือกนักศึกษา และจำแนกลักษณะงานสหกิจศึกษา รวมทั้งการเตรียมความพร้อมนักศึกษาก่อนไปปฏิบัติงานในสถานประกอบการ

เพื่อให้การเตรียมการในการเข้าปฏิบัติงานของนักศึกษาเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและนักศึกษามีคุณสมบัติพร้อมที่จะไปปฏิบัติงานในสถานประกอบการ คณะกรรมการบริหารศูนย์สหกิจศึกษา และจัดหางาน รวมถึงคณะวิชา จึงได้กำหนดระเบียบการที่เกี่ยวกับการสมัครเข้าร่วมเป็นนักศึกษาสหกิจศึกษาไว้ดังนี้

2.1 การรับสมัครเข้าร่วมหลักสูตรสหกิจศึกษา 

กำหนดให้นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ทุกสาขาวิชายื่นใบสมัครเข้าเป็นนักศึกษาหลักสูตรสหกิจศึกษาตามระยะเวลาที่ศูนย์สหกิจศึกษาและจัดหางานกำหนดโดยการคัดเลือกนักศึกษาเข้าเรียนในหลักสูตรดังกล่าวจะเป็นความรับผิดชอบของศูนย์สหกิจศึกษาฯร่วมกับทางคณะวิชา โดยยึดหลักการและเงื่อนไขตามระเบียบสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ว่าด้วยสหกิจศึกษา พ.ศ. 2552

2.2 การคัดเลือกและจำแนกสภาพนักศึกษาสหกิจศึกษา

สถาบันเทคโนโลยีไทย – ญี่ปุ่น เล็งเห็นว่างานสหกิจศึกษามีผลดีต่อนักศึกษาที่จะได้รับประสบการณ์วิชาชีพที่มีคุณค่าและความได้เปรียบในการจ้างงานภายหลังการสำเร็จการศึกษาในภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ซึ่งทางสถาบันฯ มีนโยบายที่จะให้นักศึกษาในทุกสาขาวิชาได้ผ่านการเรียนหลักสูตรสหกิจศึกษามากที่สุด

นักศึกษาจะต้องลงทะเบียนและเรียนผ่านรายวิชาเตรียมสหกิจศึกษาก่อนถึงจะสามารถเลือกเรียนหลักสูตรสหกิจศึกษาภายในระยะเวลาที่ศูนย์สหกิจศึกษาฯ ประกาศให้ทราบหลังจากเลือกหลักสูตรแล้ว การตัดสินใจลาออกจากหลักสูตรสหกิจศึกษาจะกระทำโดยการยื่นคำร้องขออนุมัติจากประธานสหกิจศึกษาและคณบดีของคณะวิชา

นักศึกษาที่จะเข้าร่วมเป็นนักศึกษาสหกิจศึกษาทั้งหมด ต้องส่งใบสมัครเข้าร่วมเป็นนักศึกษาสหกิจศึกษา, Resume, Transcript  พร้อมรูปถ่าย 1 นิ้ว 2 ใบ โดยทางศูนย์สหกิจศึกษาฯ จะรวบรวมแบบแจ้งรายละเอียดการเข้าร่วมงานสหกิจศึกษา มอบให้คณะวิชาพิจารณาคัดเลือกนักศึกษาเข้าเรียนในหลักสูตรสหกิจศึกษาและนักศึกษาจะถูกขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาหลักสูตรสหกิจศึกษาการเปลี่ยนแปลงจะสามารถ   ทำได้โดยยื่นคำร้องต่อคณบดีและได้รับพิจารณาอนุมัติจากคณบดีที่สังกัดแล้ว

2.3 การเตรียมความพร้อมนักศึกษาก่อนออกปฏิบัติงาน (การเรียนรายวิชาเตรียมสหกิจศึกษา)

สถาบันเทคโนโลยีไทย – ญี่ปุ่นได้ดำเนินการจัดรายวิชาเตรียมสหกิจศึกษาเพื่อให้นักศึกษาที่เข้าร่วมเป็นนักศึกษาสหกิจศึกษาต้องเรียนผ่านรายวิชาเตรียมสหกิจศึกษาก่อนออกปฏิบัติงาน  สหกิจศึกษาอย่างต่อเนื่องล่วงหน้า 1 ภาคเรียน ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมให้นักศึกษามีความพร้อมสูงสุดก่อนที่จะออกไปปฏิบัติงาน ณ สถานประกอบการ โดยกำหนดรายวิชาเตรียมสหกิจศึกษาเข้าในหลักสูตรสหกิจศึกษา จำนวน 1 หน่วยกิต มีหัวข้อรายละเอียดการจัดหลักสูตรการเรียนการสอน ดังต่อไปนี้

2.3.1. หลักการและแนวคิดเกี่ยวกับสหกิจศึกษา

2.3.2. ระเบียบและข้อปฏิบัติตนเกี่ยวกับสหกิจศึกษา

2.3.3. การเลือกสถานประกอบการ

2.3.4. การสมัครงานและทักษะการเขียนจดหมายสมัครงาน

2.3.5. เทคนิคการสัมภาษณ์งาน

2.3.6. ความปลอดภัยในโรงงาน

2.3.7. ระบบการบริหารงานคุณภาพ

2.3.8. มารยาทและการพัฒนาบุคลิกภาพ

2.3.9. การใช้อุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงานและระบบเอกสาร

2.3.10. การจัดทำรายงานโครงงานสหกิจศึกษา

2.3.11. การจัดการเรียนเสริมทักษะวิชาชีพเฉพาะสาขา ฯลฯ

นักศึกษาที่ไม่ผ่านรายวิชาเตรียมสหกิจศึกษา จะไม่ได้รับการพิจารณาให้ลงทะเบียนเรียนในรายวิชาสหกิจศึกษา และต้องออกจากการเป็นนักศึกษาหลักสูตรสหกิจศึกษาโดยปริยาย นักศึกษาที่เข้าเรียนรายวิชาเตรียมสหกิจศึกษาจะได้รับทราบระเบียบข้อปฏิบัติตนในการเรียนรายวิชาเตรียมสหกิจศึกษาตั้งแต่ในสัปดาห์แรกและต้องปฏิบัติตนตามข้อกำหนดตลอดระยะเวลาในการเรียน และการเข้าเรียนรายวิชาเตรียมสหกิจศึกษา โดยจะมีการแนะนำการปฏิบัติตนในสถานประกอบการ ชี้แจงข้อข้องใจต่างๆแก่นักศึกษา ซึ่งนักศึกษาที่ผ่านรายวิชาเตรียมสหกิจศึกษาจะถือว่านักศึกษามีความพร้อมในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะทางด้านวิชาการ ระเบียบวินัยและบุคลิกภาพ หากมีนักศึกษาผู้ใดมีคุณสมบัติไม่เหมาะสมที่จะไปปฏิบัติงาน อาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษาจะแจ้งผลให้นักศึกษาทราบ เพื่อระงับการปฏิบัติงานทันที 

  1. การจับคู่ (Matching) ระหว่างสถานประกอบการกับนักศึกษา โดยมีการปฏิบัติเสมือนการสมัครเข้าทำงานจริง โดยส่งให้สถานประกอบการพิจารณาจากใบสมัคร หรือการสัมภาษณ์งานเพื่อไปปฏิบัติงานสหกิจศึกษา ณ สถานประกอบการ

นักศึกษาสามารถเลือกสมัครงานได้ตามลักษณะงานที่ได้รับการเสนอจากสถานประกอบการ ซึ่งได้แจ้งข้อมูลไว้บน Website ของศูนย์สหกิจฯ สถาบันเทคโนโลยีไทย – ญี่ปุ่น และสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์สหกิจศึกษาและจัดหางานโดยที่นักศึกษาจะได้รับการปฏิบัติเสมือนการไปสมัครเข้าทำงานจริงกับสถานประกอบการนั้นๆ โดยมีขั้นตอนดังนี้

3.1 นักศึกษาส่งใบสมัครเข้าร่วมเป็นนักศึกษาสหกิจศึกษาที่ศูนย์สหกิจศึกษาฯ โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลของสถานประกอบการได้บน Website ของสถาบันฯ หรือติดต่อกับทางศูนย์สหกิจศึกษาและจัดหางาน

3.2 นักศึกษาสามารถเลือกสถานประกอบการที่ต้องเข้าสหกิจศึกษาเรียงตามลำดับที่ต้องการได้จำนวน 3 บริษัท โดยกรณีที่ไม่ได้รับการคัดเลือกจากสถานประกอบการลำดับที่ 1 ทางศูนย์สหกิจศึกษาจะทำการเลือกสถานประกอบการลำดับที่เลือกรองลงมาให้กับนักศึกษา  

3.3 คณะวิชาจะทำการจับคู่ (Matching) นักศึกษาที่สมัครเข้าร่วมเป็นนักศึกษาสหกิจศึกษากับสถานประกอบการในช่วงสัปดาห์ที่ 4 -8 ของการเรียนรายวิชาเตรียมสหกิจศึกษา เพื่อคัดเลือกเบื้องต้นและจัดส่งข้อมูลให้กับทางศูนย์สหกิจฯ จัดส่งใบสมัครของนักศึกษาให้กับสถานประกอบการ

3.4 สถานประกอบการจะคัดเลือกนักศึกษาไปปฏิบัติงานโดยพิจารณาจากใบสมัครหรืออาจจะสัมภาษณ์นักศึกษาด้วย ซึ่งเมื่อนักศึกษาส่งใบสมัครแล้วขอให้ตรวจสอบประกาศการสัมภาษณ์งานจากทางศูนย์สหกิจศึกษา ฯ หลังจากนั้นสถานประกอบการจะส่งผลการคัดเลือกนักศึกษาให้ทางศูนย์สหกิจศึกษารับทราบภายหลัง 

3.5 ศูนย์สหกิจศึกษาฯจะร่วมกับคณะวิชาในการคัดเลือกนักศึกษาเข้าปฏิบัติงานกับทางสถานประกอบการ โดยจะนำผลการคัดเลือกนักศึกษาของสถานประกอบการ และลำดับความต้องการของนักศึกษามาจับเข้าคู่กัน (Matching) โดยพยายามจัดให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของทั้งสองฝ่าย ส่วนในกรณีที่นักศึกษาไม่ผ่านการคัดเลือกจากทางบริษัท ให้รีบติดต่อศูนย์สหกิจศึกษาและจัดหางาน เพื่อจัดหาสถานประกอบการให้ใหม่โดยเร็วที่สุด

3.6 ค่าตอบแทนและสวัสดิการจากสถานประกอบการ ตามปกติสถานประกอบการจะจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงให้แก่นักศึกษาในอัตราที่สถานประกอบการกำหนด หรือตามหน่วยงานราชการบางแห่งอาจจะให้ค่าตอบแทนที่ไม่มากโดยขึ้นอยู่กับงบประมาณของสถานประกอบการ กรณีที่สถานประกอบการจัด ที่พักให้นักศึกษา ถือว่าเป็นสวัสดิการเพิ่มเติม หากนักศึกษาไม่สะดวกในเรื่องที่พักที่สถานประกอบการจัดให้ นักศึกษาหาที่พักเองได้แต่จะนำมาเป็นข้ออ้างในการไม่ไปปฏิบัติงานหรืองดปฏิบัติงานหรือเปลี่ยนสถานที่ไม่ได้ ในกรณีที่สถานประกอบการไม่มีที่พักให้กับนักศึกษา  ขอให้นักศึกษาประสานกับเจ้าหน้าที่ สหกิจศึกษา เพื่อติดต่อฝ่ายบุคคลของสถานประกอบการในการให้ข้อมูลเพื่อช่วยจัดหาสถานที่พักที่มีความปลอดภัยและเหมาะสมให้แก่นักศึกษา เช่น พักรวมกับบุคลากรของสถานประกอบการหรือพักในละแวกที่พนักงานพัก และมีรถของสถานประกอบการรับส่งโดยสะดวก เป็นต้น

  1. การเตรียมความพร้อมและการไปปฏิบัติงานสหกิจศึกษา ณ สถานประกอบการ

โดยการเตรียมความพร้อมก่อนไปสหกิจศึกษา สามารถแบ่งออกเป็น 2 ด้าน ดังนี้

4.1 การเตรียมความพร้อมด้านวิชาการ เป็นหน้าที่ของทางคณะ/สาขาวิชาต่างๆ ที่จะต้องเตรียมให้นักศึกษามีความรู้ในสาขาวิชาชีพ ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการสื่อสารและการทำงานเป็นทีม เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่อาชีพและการจ้างงานในอนาคต

4.2  การเตรียมความพร้อมด้านทักษะวิชาชีพ โดยการสอนวิชาเตรียมสหกิจศึกษาการปฐมนิเทศและอบรมให้นักศึกษาได้ทราบถึงรายละเอียดต่างๆ ก่อนเข้ารับการฝึกสหกิจศึกษา อาทิเช่น ทักษะที่ทำให้เกิดความพร้อมในการปฏิบัติงาน ทักษะการเขียนจดหมายสมัครงาน ทักษะการเรียนรู้ วัฒธรรมองค์กร เทคนิคการเลือกอาชีพการเลือกสถานประกอบการและการสมัครงาน และเทคนิคการสัมภาษณ์งานอาชีพ

ทั้งนี้ควรมีการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในด้านต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการฝึกสหกิจศึกษาเพิ่มเติม อาทิเช่น อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในโรงงาน  และ 5 ส. เพื่อให้นักศึกษามีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับความปลอดภัย ตระหนักและปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด รวมถึงการบริหารงานคุณภาพ (ISO) เทคนิคการเขียนรายงานและการนำเสนอผลงาน และการใช้อุปกรณ์ในสำนักงาน  เป็นต้น

การไปปฏิบัติงานสหกิจศึกษา ณ สถานประกอบการ นักศึกษาต้องเดินทางถึงสถานประกอบการในวันที่กำหนด  โดยทางศูนย์สหกิจศึกษาฯ จะเป็นผู้ดำเนินการประสานงานกับฝ่ายบุคคลของสถานประกอบทราบล่วงหน้า โดยหากนักศึกษาต้องการเข้าปฏิบัติงานก่อนกำหนด หรือเกิดเหตุขัดข้องในระหว่างเดินทางทำให้ไม่สามารถเดินทางไปถึงสถานประกอบการตามกำหนดเวลา โปรดแจ้งศูนย์สหกิจศึกษาฯ ทางโทรศัพท์ โดยด่วนที่สุด และควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปสถานประกอบการในวันหยุด เพราะจะไม่สะดวกในการติดต่อและการหาที่พักให้สำหรับนักศึกษา เมื่อนักศึกษาออกไปปฏิบัติงานกับสถานประกอบการ นักศึกษาจะมีพนักงานที่ปรึกษาคอยดูแลและชี้แนะนักศึกษา ซึ่งนักศึกษาจะต้องตั้งใจปฏิบัติงาน และให้ความเคารพกับพนักงานที่ปรึกษาเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในระหว่างปฏิบัติงาน

เพื่อให้การประสานงานระหว่างนักศึกษาและเจ้าหน้าที่สหกิจศึกษาเป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อย  นักศึกษาจะต้องจัดส่งเอกสารที่จำเป็นให้กับทางศูนย์สหกิจศึกษาฯ ภายในระยะเวลาที่กำหนด ดังนี้

  1. ในระหว่างสัปดาห์แรกของการปฏิบัติงาน นักศึกษาสหกิจศึกษาจะต้องส่งแบบแจ้งรายละเอียดตำแหน่งงานและพนักงานที่ปรึกษา รวมทั้งแจ้งสถานที่ปฏิบัติงาน (ชื่อโรงงาน-ที่อยู่) ชื่อพนักงานที่ปรึกษา (พี่เลี้ยง) หน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย หมายเลขโทรศัพท์และโทรสารที่จะติดต่อกับนักศึกษา ตลอดจน Job Supervisor (CCC – C03) แบบฟอร์มรายงานการปฏิบัติงานสหกิจศึกษาประจำสัปดาห์ (CCC-C04) และหนังสือสัญญาการเข้ารับการฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษา (กรณีที่บริษัทต้องการให้นักศึกษาเซ็นสัญญา)มายังอาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษา
  2. ในระหว่างสัปดาห์ที่ 3 – 4  นักศึกษาจะต้องส่งแบบแจ้งแผนการปฏิบัติงานเพื่อแจ้งแผนการปฏิบัติงาน (CCC –C05) มายังอาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษา
  3. ในระหว่างสัปดาห์ที่ 4 ของการปฏิบัติงาน นักศึกษาจะต้องจัดส่งแบบแจ้งโครงร่างรายงาน การปฏิบัติงาน (CCC-C07) เพื่อให้อาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษาได้ตรวจสอบและให้คำแนะนำ นักศึกษาอาจจะเริ่มเขียนรายงานได้ทันทีหากอาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษาไม่ได้แจ้งแก้ไขหัวข้อหรือเค้าโครงร่างรายงานทั้งนี้อาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษาอาจจะให้คำแนะนำเพิ่มเติมระหว่างการไปนิเทศงานก็ได้ ในกรณีที่พนักงานที่ปรึกษาไม่มีเวลาเขียนข้อมูลในแบบฟอร์มต่างๆ ให้นักศึกษาอาจจะแก้ปัญหาโดยการสอบถามข้อมูลด้วยวาจาแล้วเป็นผู้เขียนข้อมูลที่รับด้วยตนเอง จากนั้นนำไปให้พนักงานที่ปรึกษาตรวจสอบและลงนามรับทราบหากมีข้อขัดข้องประการใดที่ทำให้ไม่สามารถจัดส่งเอกสารได้ตามกำหนดจะต้องแจ้งให้ทางศูนย์ สหกิจศึกษาฯ หรืออาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษาทราบทางโทรสารหรือจดหมายทันที
  4. นักศึกษาจะต้องส่งรายงานที่เสร็จสมบูรณ์ให้แก่พนักงานที่ปรึกษาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนเสร็จสิ้น การปฏิบัติงานและจะต้องแก้ไขตามพนักงานที่ปรึกษาแนะนำให้เสร็จเรียบร้อย ระหว่างปฏิบัติงานนักศึกษาจะต้องปฏิบัติตนตามกฏระเบียบของการบริหารบุคคลของสถานประกอบการอย่างเคร่งครัดทุกประการ เช่น การแต่งกาย เวลาการเข้า-ออก วันหยุด และวันลา เป็นต้น
  5. การนิเทศงานสหกิจศึกษาศูนย์สหกิจศึกษาและจัดหางานได้จัดให้มีการนิเทศงาน โดยคณาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษาประจำคณะวิชาที่มีนักศึกษาไปปฏิบัติงาน โดยอาจจะมีบุคลากรทางศูนย์สหกิจศึกษาฯ ร่วมเดินทางไปนิเทศอย่างน้อย 1 ครั้ง ระหว่างที่นักศึกษาในสังกัดภาควิชาปฏิบัติงานสหกิจศึกษา ณ สถานประกอบการโดยมีวัตถุประสงค์ของการนิเทศงานสหกิจศึกษา ดังนี้

5.1. เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่นักศึกษาที่กำลังปฏิบัติงานโดยลำพัง ณ สถานประกอบการซึ่งนักศึกษาจะต้องอยู่ห่างไกลจากครอบครัว เพื่อน และคณาจารย์

5.2. เพื่อดูแลและติดตามผลการปฏิบัติงานของนักศึกษา ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสหกิจศึกษา

5.3. เพื่อช่วยเหลือนักศึกษาในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างการปฏิบัติงานทั้งปัญหาด้านวิชาการและปัญหาการปรับตัวของนักศึกษาในสภาวะการทำงานจริง

5.4. เพื่อขอรับทราบและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวความคิดการมาปฏิบัติงานของนักศึกษาในระบบสหกิจศึกษาตลอดจนการแลกเปลี่ยนความก้าวหน้าทางวิชาการซึ่งกันและกัน

5.5. เพื่อประเมินผลการดำเนินงาน และรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสถาบันฯ

5.6. การให้คำปรึกษาของอาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษาซึ่งทำหน้าที่นิเทศงานนอกเหนือจากการไปนิเทศแล้วอาจมีการประยุกต์การสื่อสารโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้าช่วย เช่น การส่ง E-mail, MSN, Webcam, GPS, GIS การประชุมทางไกลผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (Teleconference Meeting) ฯลฯ

5.7. การติดตามความก้าวหน้าในการปฏิบัติงานของนักศึกษาคือการให้นักศึกษาเขียนรายงานความก้าวหน้าการปฏิบัติงานประจำสัปดาห์ (ตามแบบฟอร์ม) ส่งให้อาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษาฯประจำทุกสัปดาห์ 

5.8. การนำเสนอผลการปฏิบัติงานสหกิจศึกษาสำหรับสถานประกอบการควรมีการจัดให้นักศึกษานำเสนอรายงานสรุปผลการปฏิบัติงานสหกิจศึกษาในสัปดาห์สุดท้ายโดยเชิญพนักงานในสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟัง เพื่อให้ข้อคิดเห็นและคำแนะนำต่อโครงงานของนักศึกษารวมถึงการใช้ประโยชน์จากงานที่นักศึกษาปฏิบัติสหกิจศึกษา

 

ขั้นตอนการนิเทศงานสหกิจศึกษา ประกอบด้วย

  1. ศูนย์สหกิจศึกษาฯ จะประสานงานกับประธานอาจารย์ที่ปรึกษาของคณะวิชาเพื่อกำหนดแผนการนิเทศงานของคณะวิชาทั้งภาคการศึกษา โดยนักศึกษาทุกคนที่ไปปฏิบัติงานจะต้องได้รับการนิเทศงานอย่างน้อย 1 ครั้งในระหว่างที่ปฏิบัติงาน
  2. ศูนย์สหกิจศึกษาฯประสานงานกับสถานประกอบการเพื่อนัดหมายวันและเวลาที่ทางอาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษาจะเดินทางไปนิเทศ ณ สถานประกอบการ (กรณีที่นักศึกษามากกว่า 1 สาขาวิชา สหกิจศึกษาในบริษัทเดียวกัน ) 
  3. อาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษาจะเดินทางไปนิเทศงานตามกำหนดนัดหมาย โดยมีหัวข้อในการนิเทศงาน คือ ตรวจสอบคุณภาพงาน และหัวข้อรายงานที่สถานประกอบการมอบหมาย ติดตามผลการปฏิบัติงานและความก้าวหน้าในการจัดทำรายงานของนักศึกษาให้คำปรึกษาและช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งด้านวิชาการและการพัฒนาตนเองของนักศึกษา
  4. ภายหลังการเดินทางกลับอาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษาจะต้องประเมินผลการนิเทศงานทั้ง สถานประกอบการและนักศึกษา ตามแบบประเมินผลจากการนิเทศงานและจัดทำคะแนนการประเมินผลรายวิชาสหกิจศึกษาหลังจากปฏิบัติงานเสร็จสิ้น ส่งมอบให้ประธานสหกิจศึกษาของสาขาวิชาเป็นผู้รวบรวม  จัดส่งผลคะแนนการประเมินผลให้กับฝ่ายวิชาการตามระบบของสถาบันฯ
  1. การจัดส่งรายงาน เมื่อนักศึกษาปฏิบัติงานสหกิจศึกษาเสร็จสิ้นและกลับมายังสถาบันฯ โดยนักศึกษาต้องมารายงานตัวต่ออาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษาประจำคณะวิชาเพื่อสอบถามปัญหาให้คำปรึกษาหารือข้อเสนอแนะและแนวคิดที่ถูกต้องในการพัฒนาตนเองของนักศึกษาพร้อมกับทั้งส่งรายงานทางวิชาการแก่อาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษา ตลอดจนทำการแก้ไขรายงานให้สมบูรณ์ตามระยะเวลาที่อาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษากำหนด
  2. การจัดสอบหรือการนำเสนอผลงานในภาพรวมของการปฏิบัติงานสหกิจศึกษาโดยนักศึกษาสหกิจศึกษาต้องมีการสอบการนำเสนอโครงงานสหกิจศึกษาหรือจัดสัมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างนักศึกษาเพื่อพัฒนาความสามารถในการนำเสนอและร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ที่ได้รับจากการปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของงานสหกิจศึกษา จึงจัดให้นักศึกษาที่กลับจากสถานประกอบการสอบโครงงานสหกิจศึกษาหรือร่วมสัมมนาแลกเปลี่ยน ความคิดเห็นระหว่างนักศึกษา คณาจารย์เพื่อนำเสนอผลงานสหกิจศึกษาภายใต้ การกำกับดูแลของอาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษาประจำคณะวิชา
  3. การประเมินผลและระดับคะแนนตัวอักษรของการประเมินผล

3.1. การประเมินผลการศึกษา ให้กระทำเมื่อสิ้นสุดการศึกษาแต่ละภาคการศึกษา

3.2. การประเมินผลการศึกษาของรายวิชาสหกิจศึกษาจะใช้ผลการประเมินเป็นระดับคะแนนตัวอักษรซึ่งมีความหมายและแต้มระดับคะแนน ดังต่อไปนี้

 

ระดับคะแนนตัวอักษร

ความหมาย

I

  การวัดผลยังไม่สมบูรณ์ (Incomplete)

S

  ผลการประเมินเป็นที่พอใจ (Satisfactory)

U

  ผลการประเมินยังไม่เป็นที่พอใจ (Unsatisfactory)

 

3.3. การประเมินผลเพื่อกำหนดระดับคะแนนตัวอักษรจะพิจารณาจาก
    3.3.1. การเข้าร่วมกิจกรรมสหกิจศึกษาครบถ้วน ตามที่สถาบันกำหนด
ปฐมนิเทศสหกิจศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนออกปฏิบัติงาน ผลการเรียนผ่านรายวิชาเตรียมสหกิจศึกษาในชั้นปีที่ 3 การจัดส่งรายงานและการนำเสนอผลงานสหกิจศึกษาหลังกลับจากสถานประกอบการ หากนักศึกษาไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ จะต้องยื่นคำร้องขอลากิจกรรมและขอชดเชยกิจกรรมให้ครบถ้วนนักศึกษาที่ไม่เข้าร่วมกิจกรรมและไม่ยื่นคำร้องขอลากิจกรรมอาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษาจะต้องรับทราบ เพื่อประกอบการพิจารณาการประเมินผลรายวิชา
     3.3.2. ผลการประเมินการปฏิบัติงานและรายงานการปฏิบัติงานจากพนักงานที่ปรึกษา (Job Supervisor)
     3.3.3. ผลการประเมินรายงานการปฏิบัติงานจากอาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษาโดย        ประธานอาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษาของแต่ละคณะวิชาจะเป็นผู้ประสานงานส่งรายงานการปฏิบัติงานของนักศึกษาให้กับอาจารย์ที่ปรึกษาในสาขาวิชา เพื่อให้คำแนะนำแก่นักศึกษา และตรวจแก้ไขให้ได้ฉบับที่สมบูรณ์ถูกต้องตามหลักวิชาการตลอดจนรวบรวมผลการประเมินแจ้งให้กับศูนย์สหกิจศึกษาและจัดหางาน
ประธานอาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษาและอาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษาของแต่ละคณะวิชาจะร่วมกันพิจารณา ให้ระดับคะแนนตัวอักษร S หรือ U แก่นักศึกษา
กรณีที่นักศึกษาได้รับการประเมินระดับคะแนนตัวอักษร U ในรายวิชาสหกิจศึกษา จะต้องลงทะเบียนเรียนรายวิชานั้นซ้ำอีกจนกว่าจะได้รับระดับคะแนนตัวอักษร S หรือเลือกเรียนรายวิชาทดแทนสหกิจศึกษาตามที่สาขาวิชากำหนด โดยจะต้องมีจำนวนหน่วยกิตรวมของรายวิชาทดแทนสหกิจศึกษาไม่น้อยกว่า 6 หน่วยกิตซึ่งเทียบเท่าจำนวนหน่วยกิตของรายวิชาสหกิจศึกษา